096-356-9461 mayotc@gmail.com

ปรับความคิดครู เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ สู่การเล่นนอกห้องเรียน
‘บ่อน้ำ บ่อทราย’
ครู-ผู้ปกครอง-ชุมชน ร่วมใจ
สร้างวิธีการปฏิบัติและสภาพแวดล้อมใหม่
เปลี่ยนโรงเรียน เป็นโรงเล่นที่มีความหมาย
บ่มเพาะเด็กๆ ด้วยความสุขและกิจกรรมเสริมพัฒนาการสมวัย
ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างคนคุณภาพของอำเภอพญาเม็งราย

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

จากการที่เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลตาดควัน ได้รับคำเชิญชวนจากโรงพยาบาลพญาเม็งรายให้เข้าร่วมอบรมความรู้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ในปี พ.ศ. 2559 เป็นจุดเริ่มต้นของการนำองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองสมองส่วนหน้า มาต่อยอดการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลตาดควัน ต่อมาเมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาทักษะสมอง EF อำเภอพญาเม็งราย จึงได้มีการจัดเวทียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนทักษะสมอง EF ของอำเภอพญาเม็งราย สร้างการเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมทั้งอำเภอ

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัยให้สัมฤทธิ์ผล คือ การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF แก่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปปฏิบัติจริง โดยเริ่มจากการจัดอบรมบุคลากรครูทุกคนในตำบล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะสมอง EF รวมทั้งอบรมทักษะการจัดทำแผนการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ตามแนวทาง EF Guidelineและการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แผนการเรียนการสอนและสื่อ EF ระดับตำบล ในส่วนของการพัฒนาผู้ปกครอง ได้จัดอบรมผู้ปกครองเรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัย รวมทั้งติดตามการนำความรู้ไปใช้ผ่านกิจกรรมเยี่ยมบ้าน

การขับเคลื่อนงานส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยในตำบลตาดควัน เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน EF พื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบอำเภอพญาเม็งราย ที่บูรณาการงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครหมู่บ้าน และชุมชนในทุกตำบลของอำเภอพญาเม็งราย ผ่านโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็ก เพื่อนำความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ไปเผยแพร่แก่ชุมชนในทุกพื้นที่ ทุกครัวเรือน ทั้งยังได้จัดทำคู่มือทักษะสมองส่วนหน้า EF และจัดทำคู่มือส่งต่อเด็กรายบุคคล จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปโรงเรียนอนุบาล เพื่อความต่อเนื่องในการติดตามพัฒนาการและส่งเสริมทักษะสมอง EF ของเด็กทุกคนในอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย

การพัฒนาองค์ความรู้ และงานเด่นจากการนำความรู้ EF ไปปฏิบัติ ที่เกิดขึ้น

 หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมทักษะ EF บานเย็น ปวงขันคำ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. ตาดควันคิดได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป จึงมีความคิดที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองของเด็กๆ นี่จึงเป็นที่มาของ “บ่อน้ำบ่อทราย” สนามเด็กเล่นที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของครู ผู้ปกครอง และชุมชนช่วยกันขนทราย ปรับสภาพพื้นดิน ฝังล้อยางรถยนต์เป็นขอบรั้ว ก่อร่างสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่น และนำไปสู่การพัฒนาทักษะและความสุขของเด็กไปพร้อมๆ กัน

(ภาพ) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และชุมชน ร่วมกันลงขัน ลงแรงสร้าง “บ่อน้ำ บ่อทราย” ลานเล่นให้เด็กๆ

ครูบานเย็น ปวงขันคำ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. ตาดควัน กล่าวว่า “เมื่อก่อนกลัวการให้เด็กเล่นทรายเพราะกลัวทรายเข้าตาเด็ก แต่เมื่อสังเกตการเล่นของเด็ก จึงพบว่าเด็กมีจังหวะการเล่นของตัวเองให้ปลอดภัย

ครูใช้บ่อน้ำบ่อทรายสร้างกระบวนการช่วงเช้าก่อนเคารพธงชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านอารมณ์ และความรู้สึกของเด็ก โดยให้เด็ก ดื่ม กิน เข้าห้องน้ำและปล่อยเล่นตามธรรมชาติ ซึ่งเด็กจะชอบบ่อน้ำ บ่อทรายมากที่สุด

เมื่อเด็กรู้สึกอิสระ เล่นยังไงก็ได้ เอาความชอบของเขาหรือเมื่อเห็นเพื่อนเล่นอีกแบบแล้วตามเพื่อน เล่นเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เป็นลักษณะการเล่นที่ไม่มีแบบแผนเฉพาะเจาะจง เป็นการเล่นที่สนุก มีความสุข และยิ่งมีอุปกรณ์มาช่วยเสริม เด็กจะยิ่งได้พัฒนาความคิดจากการใช้อุปกรณ์ในการเล่นด้วยตัวเอง

ขณะที่เล่นทรายเด็กจะเอาตัวเองลงมาเล่นทั้งเนื้อทั้งตัว ได้คิดอิสระอย่างเต็มที่ ได้ความจดจ่อใส่ใจ (ทักษะกำกับตนเอง) ได้คิดสร้างสรรค์และจินตนาการ (กล้าริเริ่ม ลองผิดลองถูก) ได้กำหนดเป้าหมายเล็กๆ และลงมือทำทันที (คิดแก้ปัญหา ยืดหยุ่น) การเล่นสำหรับเด็กจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นการทำงานของเซลล์และเส้นใยประสาทสมองทุกส่วนของเด็กกำลังเรียนรู้ และประสานต่อเชื่อมเป็นทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นโครงสร้างของสมองที่จะติดตัวเด็กไปอย่างคงทนตลอดชีวิต นอกจากนี้ การเล่นทรายยังช่วยระบายอารมณ์ลบ ถ่ายโอนความเครียดในจิตใจให้ออกไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้สมองส่วนหน้าพร้อมต่อการเรียนรู้ที่คุณครูจัดเตรียมไว้อย่างกระตือรือร้น การเล่นน้ำ เล่นทรายจึงช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กได้อย่างองค์รวม 

ความเปลี่ยนแปลง

หลังจากครูทุกคนได้รับการอบรมเรื่องทักษะ EF ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก นำไปสู่การปรับกระบวนคิดและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก โดยเน้นการออกแบบกิจกรรมให้อบอุ่นปลอดภัยในความรู้สึกของเด็กในทุกกิจกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองและพัฒนาการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น

ครูกุล - พิกุล คุณาภรณ์สิริ

 “ตัวเองเปลี่ยนไปมาก เพราะโดยปกติตัวเองเป็นคนใจร้อน พอมาเจอ EF แล้วเรารู้จักยับยั้งชั่งใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น”

บานเย็น ปวงขันคำ
หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านตาดควัน

ผู้ปกครองต่างพอใจกับความสุขของเด็กๆ และการเปลี่ยนแปลงในตัวลูกหลาน จากการที่ได้เห็นพัฒนาการด้านทักษะและลักษณะนิสัยชองเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดีจากพฤติกรรมการเล่น อาทิ การเก็บของเล่นซึ่งเป็นการฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสมองเพื่อการจัดการชีวิตที่สำเร็จ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตลาดควัน นำความรู้ทักษะสมอง EF มาพลิกโฉมแผนจัดประสบการณ์เพื่อการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ด้วย ปฏิบัติการ 3 เปลี่ยน สร้างสภาพแวดล้อมเสริมสร้างพัฒนาการดีด้วย EF 

ครูเปลี่ยน

 

“เมื่อก่อนเราใจร้อนกว่าเด็กอีก เราไม่รอ เพราะอยากให้เสร็จ ถ้าหนูไม่ทำ หนูไปล้างมือเลย เดี๋ยวครูทำให้เอง กลายเป็นเราทำ มันเสร็จ แต่เด็กไม่ได้อะไร พอเราได้ EF มา แม้คนสุดท้ายยังไม่เสร็จ เราก็ต้องรอ”

ครูบานเย็น ปวงขันคำ

 หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านตาดควัน

คิดใหม่-ลงมือทำใหม่สร้างวินัยเชิงบวก

·       เชื่อมั่นในตัวเด็ก ให้โอกาสเด็ก คิด-พูด-ลงมือทำ

·       ใช้คำถามเสริมแรงกระตุ้นการเรียนรู้แบบไม่ตัดสินผิดถูก

·       ลดการสอน เพิ่มการสังเกต ลดการแทรกแซง เพิ่มการส่งเสริม

·       ยับยั้งความรู้สึก ให้เวลากับการสัมผัสและรอคอยเด็กได้

·       ยอมรับความหลากหลาย ไม่เปรียบเทียบ ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

·       สื่อสารด้วยภาษาและสัมผัสที่อบอุ่น

เด็กเปลี่ยน

·       สั่งสมความกล้า รู้สึกดี เกิดความมั่นใจ และพัฒนาเป็น “ความนับถือตนเอง”

 

กิจกรรมเปลี่ยน

 

เล่นผ่านการงาน และ เล่นอิสระ ด้วยความอบอุ่นและปลอดภัย ให้เด็กได้เล่นเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันได้

·       เปลี่ยนกิจวัตรนอกห้องเรียนเป็นงานเล็กน้อยให้เด็กรับผิดชอบ

·       เพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ตอบสนองธรรมชาติของเด็ก เช่น เล่นอิสระกลางแจ้ง

·       เปลี่ยนรูปแบบและวิธีปฏิบัติในกิจกรรมให้เด็กได้คิด ทำอิสระ และเปิดโอกาสให้เด็กสะท้อนความคิดความรู้สึก

เด็กเปลี่ยน

·       ได้ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ

·       ได้มีทักษะฝึกปฏิบัติ

·       ได้คิดอิสระอย่างเต็มที่

·       ได้ความจดจ่อใส่ใจ (ทักษะกำกับตนเอง)

·       ได้คิดสร้างสรรค์และจินตนาการ (กล้าริเริ่ม ลองผิดลองถูก)

·       ได้กำหนดเป้าหมายเล็กๆ และลงมือทำทันที (คิดแก้ปัญหา ยืดหยุ่น)

สภาพแวดล้อมเปลี่ยน

 

“เดี๋ยวนี้เวลาพูดกับลูกก่อนไปโรงเรียน พ่อเค้าเปลี่ยนจาก “ตั้งใจเรียน เป็น.. ตั้งใจเล่นนะลูก”

                  สุนทรี  แซ่จัน

                      ผู้ปกครอง

เชื่อมความร่วมมือสู่เป้าหมายเดียวกัน

·       อบรมครูทักษะความรู้ EF ทั้งโรงเรียน ทั้งตำบล แลกเปลี่ยนความรู้และขับเคลื่อนไปด้วยกัน

·       อบรมทักษะความรู้ EF ลงเยี่ยมบ้านและติดตามผลให้ผู้ปกครองร่วมส่งเสริมเด็กที่บ้าน

·       ปรับปรุงสนามเด็กเล่น บ่อน้ำ บ่อทราย ด้วยการลงแรงร่วมกันของครู ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นจุดเชื่อมความสำคัญของ EF กับผู้ปกครอง

ผู้ใหญ่เปลี่ยน & เด็กเปลี่ยน

·       ได้รับการฝึกฝนต่อเนื่อง ช่วยเหลือตัวเองได้ดี

·       มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น

·       พัฒนาการดีขึ้นสมวัย

·       ผู้ปกครองเข้าใจ ใช้ EF ต่อที่บ้าน

กุญแจสู่ความสำเร็จ

ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตาดควัน เกิดจากการสร้างการรับรู้ร่วมกันในทุกภาคส่วน พร้อมการปรับกระบวนการเรียนการสอนของครู โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านบุคคลากรที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงาน การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัย และความร่วมมือจากชุมชนและผู้ปกครองที่เข้าใจและส่งเสริมการพัฒนาทักษะ EF แก่บุตรหลาน ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในอำเภอพญาเม็งราย ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเครือข่ายผู้ปกครอง

บทเรียนที่อยากบอกต่อ 

  • เมื่อครูเปลี่ยน (ความคิดและวิธีการสอน) เด็กจึงเปลี่ยน หากผู้ปกครองเข้าใจ EF และลงมือสร้างทำไปในทิศทางเดียวกัน จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดที่เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข
  • การเล่นคือการงานของเด็กในวัยเริ่มต้นของชีวิต หากได้รับโอกาส เวลา การสนับสนุนอย่างเข้าใจจากผู้ใหญ่ ให้เด็กได้เล่นอิสะอย่างเต็มที่ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และในชุมชน เด็กๆ จะได้ทักษะสมองที่ดีทันทีด้วยมือและใจของทุกคน
  • เปลี่ยนวิธีปฏิบัติกับเด็กในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน (รูปแบบ-ขั้นตอนกิจกรรมสร้างสรรค์เปลี่ยนไป) จากกรอบในวิชาศิลปะสร้างสรรค์ เปลี่ยนเป็น ภาพวาดอิสระตามหัวข้อตามจินตนาการของเด็กแล้วให้มาเล่าให้ฟัง โดยมีครูตั้งคำถามเสริมแรง แบบไม่ตัดสินผิดถูก ส่งเสริมให้เด็กกล้าพูด กล้าคิด กล้าตอบ เมื่อสั่งสมความกล้าได้เด็กจะค่อยๆ รู้สึกดีต่อตนเอง เกิดความมั่นใจ และพัฒนาเป็น “ความนับถือตนเอง” ในที่สุด
  • เปลี่ยนกิจวัตรนอกห้องเรียนให้เป็นงานเล็กๆน้อยๆ ให้เด็กรับผิดชอบ เช่น เก็บถาดอาหารเมื่อกินอาหารกลางวันเสร็จ แทนการให้แม่ครัวเก็บถาดอาหาร เพื่อฝึกทักษะการช่วยเหลือและดูแลตนเอง (ไม่ต้องกังวลกับการเก็บกวาด เลอะเทอะ) ฝึกการคิด ลงมือ วางแผนเป็นขั้นตอน แก้ปัญหาเศษอาหารในถาด และจัดเก็บถาดอาหารให้เรียบร้อย เมื่อได้ลงมือทำ ฝึกฝนทุกวัน ช้าๆ บ่อยๆ วงจรสมองจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาขึ้น
  • การฝึกให้เด็กทำงาน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน แต่ต้องการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ได้ทำงาน เกิดสัญญาณประสาทไปกระตุ้นสมองส่วนรับรู้ และส่วนควบคุมสั่งการ รวมไปถึงสมองส่วนหน้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดการประสานสัมพันธ์กับระหว่างการเคลื่อนไหวกับเป้าหมายที่ต้องการทำ เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสมองเรียนรู้ที่สร้างสติปัญญาและแบบแผนทางอารมณ์ที่มั่นคง เพื่อสามารถจัดการชีวิตสำเร็จในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการส่งเสริมให้เด็กเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เริ่มจากงานเล็กๆ ใกล้ตัวที่เด็กเล็กคนหนึ่งจะสามารถลงมือทำด้วยตนเองทุกๆ วัน

        ประมวลภาพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. ตาดควัน EF Center

        (ภาพบน) กิจกรรมพบปะผู้ปกครอง เผยแพร่ความรู้ และทักษะ ดูแลเด็กร่วมกัน ระหว่างโรงเรียน บ้านและชุมชน

        (ภาพ) กิจกรรมเสริมพัฒนาการสมวัย : และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

        ประมวลภาพ กิจกรรมเล่นอิสระเครื่องเล่นสนาม บ่อน้ำ บ่อทราย

        ตัวอย่างความสำเร็จ

        บ่อน้ำ บ่อทราย

        พลังครู พลังพ่อแม่ พลังชุมชน พลังจิตอาสา องค์ประกอบหลักสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เติบใหญ่เป็นรากฐานทุนมนุษย์ของชาติในอนาคต บ่อน้ำ บ่อทราย เรื่องราวที่ยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังชุมชน ไม่แพง ทำได้ทันทีถ้าเข้าใจ

        THAILAND EF PARTNERSHIP