โรงเรียนวัดปากคลองบางคู้
ผสานพลังครู หมอ พ่อแม่
ร่วมแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก ให้เด็กฝึก ‘คิด-ทำ-ทบทวน’
พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ ‘High Scope’
ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF
โรงเรียนวัดปากคลองบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นน้องใหม่ล่าสุดที่เข้ามาร่วมโครงการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัย จากความพยายามในการแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนขาดสมาธิ ขาดทักษะในการคิด การวางแผน และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ซึ่งเป็นปัญหาที่โรงเรียนเผชิญในปัจจุบัน จนผู้บริหารโรงเรียนได้ค้นพบว่าทักษะ EF คือทางออกของปัญหา จึงได้เข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย ICAP’ (Integrated Child-Centered Active Learning project) ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยที่เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัย และได้เริ่มดำเนินงานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยการแนะนำของแกนนำขับเคลื่อน EF จังหวัดลพบุรี คือ คุณวาศินี เนียมอ่อน อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลลำสนธิ และคุณคุณอุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล ซึ่งทั้งสองท่านเป็นภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ที่ขับเคลื่อน EF ในเด็กปฐมวัยด้วยกระบวนการ High Scope โดยปัจจุบันได้รวมตัวกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดลพบุรี ขับเคลื่อนในนามกลุม ICAP ได้แนะนำให้โรงเรียนวัดปากคลองบางคู้เข้าร่วมจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF รูปแบบสถานศึกษาระดับปฐมวัย
**หมายเหตุ – เพื่อศึกษาข้อมูล ICAP เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิยุวพัฒน์
https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/about/platform/icap/
หรือ https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/about/platform/icap/
(ภาพ) กิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ผ่านกระบวนการคิด ทำ ทบทวน ตามแนวทาง High Scope
เป้าหมายและยุทธศาสตร์
องค์การบริหารส่วนตำบลบางคู้ ผู้นำชุมชน และเครือข่ายพัฒนาเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนและขยายผลความรู้ทักษะสมอง EF สู่กลุ่มเด็กและเยาวชนในตำบลบางคู้จำนวน 15 หมู่บ้าน เริ่มจากการให้ความรู้แก่บุคลากรและนำไปขยายผลสู่การปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญในการผสานความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การสนับสนุนของโคงการ ICAP จังหวัดลพบุรี
เติมทักษะสมอง EF สู่วงล้อการเรียนรู้ ช่วยครูสร้างเด็ก
โรงเรียนนำความรู้ทักษะสมอง EF มาบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ตามแนวคิด High Scope/RIECE Thailand ที่ประยุกต์ใช้ในโรงเรียน หนุนเสริมทักษะสำคัญที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก เข้าสู่วงล้อการเรียนรู้ผ่านกระบวนการตามแผนการจัดประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยผู้ใหญ่จัดกิจกรรมตามหลักของการมีตัวเลือก มีสื่อ อุปกรณ์ การลงมือกระทำ การใช้ภาษาและความคิดของเด็กและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เปิดโอกาสให้เด็กได้ริเริ่มตัดสินใจในการเรียนรู้ ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่เป็นมิตร อบอุ่นให้กำลังใจ สนับสนุนให้เด็กมีอิสระและความมั่นใจในการแสดงออก ให้ความสนใจในจุดแข็งของเด็กเพื่อการพัฒนา เสริมทักษะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยคำนึงถึงพัฒนาการและสมรรถนะเด็กรายบุคคล ภายใต้สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย การจัดพื้นที่เล่นให้น่าสนใจ ปลอดภัย ปลูกฝังสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน มีสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย ให้เด็กเข้าถึง หยิบใช้และเก็บคืนด้วยตนเอง โดยผู้ใหญ่ทำสัญลักษณ์ โครงร่างภาพเพื่อเด็กสามารถจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
(ภาพ) กิจกรรมเติมทักษะสมอง EF มุมเล่นอิสระ ซ้าย-เล่นเป็นกลุ่ม ขวา-เล่นบทบาทสมมติ
ทั้งนี้กระบวนการจัดประสบการณ์ยังมีความสม่ำเสมอ ด้วยกิจวัตรประจำวันที่คงเส้นคงวา โดยมีการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้วางแผน ปฏิบัติและ ทบทวน มีการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า ทำการทดลองกับวัสดุอุปกรณ์ มีกิจกรรมกลุ่มใหญ่ที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ดนตรี การเคลื่อนไหว สร้างสรรค์ศิลปะ รวมทั้งการส่งเสริมให้เด็กช่วยเหลือตนเองด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการประเมินการทำงานเป็นทีมทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ มีการบันทึกรายวัน วางแผนรายวัน ประเมินพัฒนาการ วิเคราะห์กระบวนการจัดประสบการณ์ในแต่ละวัน โดยการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กทุกคน ทุกองค์กร ซึ่งจากผลการพัฒนาที่ผ่านมาพบว่า เพียงเวลา 1-2 เดือน เด็กที่ได้รับกระบวนการสร้างทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ ทักษะสมอง EF ด้วยวงล้อการเรียนรู้ High Scope/RIECE Thailand ทำให้เด็กสามารถจดจ่อ รอคอย ยืดหยุ่น วางแผน มุ่งเป้าหมาย ควบคุมกำกับตนเองได้ มีศักยภาพและพัฒนาการก้าวหน้าในทุกๆ คน
การพัฒนาองค์ความรู้ และงานเด่นจากการนำความรู้ EF ไปปฏิบัติ ที่เกิดขึ้น
- จัดสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสมองของเด็กปฐมวัยผ่านกระบวนการ High Scope
กิจกรรม | กลุ่มเป้าหมาย | ผลลัพธ์การดำเนินงาน |
จัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบ High Scope |
– เด็กอนุบาล 2 และ 3 – ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นอนุบาล 2 และ 3
|
– เด็กมีวินัย – รู้จักรอคอย – รู้จักการวางแผนการเล่น – มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ – เด็กรู้จักการทบทวนตัวเอง – เด็กรู้จักรับผิดชอบต่อแผนที่วางเอาไว้และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง – เด็กรู้จักยืดหยุ่นความคิดตนเอง – รู้จักเก็บของได้อย่างเป็นระบบ – มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น – คุณครูและผู้ปกครองมีการทำงานร่วมกัน และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน |
ความเปลี่ยนแปลง
“…ผลจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วง 4 เดือน เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีวินัยในตนเอง มีสมาธิในการทำกิจกรรม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถวางแผนและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือกทำ มีความกล้าแสดงออก สามารถตั้งคำถาม ตอบคำถามได้อย่างมีเหตุผล และสิ่งที่ชอบมากๆ คือ เด็กทุกคนมีความคิดยืดหยุ่นสูง เช่น เมื่อตนเองผิดหวังจากสิ่งหนึ่ง สามารถปรับความคิดและความต้องการของตนเองไปเลือกทำสิ่งอื่นได้อย่างมีความสุข…”
ทรงกต เอี่ยมบัว
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปากคลองบางคู้
กุญแจสู่ความสำเร็จ
- ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากโครงการ ICAP อย่างต่อเนื่อง
- ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงาน EF ในโรงเรียน ผ่านคุณครูและผู้ปกครองในระดับปฐมวัย และมีแผนการขยายองค์ความรู้สู่คุณครูทุกคนและผู้ปกครองเด็กทุกระดับชั้นในโรงเรียน
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางคู้และองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานในชุมชน
บทเรียนที่อยากบอกต่อ
“…ในศตวรรษที่ 21 เด็กต้องมีทักษะสมอง หรือทักษะ EF ที่จะช่วยให้เด็กสามารถควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ เด็กจะต้องมีเป้าหมายของตัวเอง นำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายได้… ครู หมอ (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข) พ่อแม่ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเด็ก…”
อุไรลักษณ์ ลาภเบญจกุล
หนึ่งในผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนโครงการ ICAP