สร้างเด็กคุณภาพ ด้วย 3 นวัตกรรมการศึกษา
จิตศึกษา – PBL – PLC และการพัฒนาทักษะสมอง EF
พัฒนาศักยภาพครู
ต่อยอดการเรียนรู้ ผู้ปกครองและเครือข่าย
ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF
โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก (ถาวรวิทย์อุปกฤต) เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนจิตศึกษา ที่จัดระบบการศึกษาและพัฒนาบุคลากรโดยใช้การเรียนรู้ 3 นวัตกรรม ตามแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยแนวทางจิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning – PBL) และ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) ยิ่งได้มารู้จัก EF เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
EF เพิ่มความชัดเจนเรื่องการพัฒนาทักษะสมองเด็ก
เมื่อมีโอกาสเรียนรู้เรื่อง Executive Functions – EF ทำให้ผู้บริหารและคณะครูเข้าใจเรื่องการทำงานของสมอง และกระบวนการพัฒนาทักษะสมอง EF แก่เด็กได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงนำไปบูรณาการกับนโยบายและแนวทางการศึกษาโดยทำโครงการพัฒนาวิชาการ สนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ 3 นวัตกรรมและทักษะสมอง EF อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ออกแบบให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะสมอง EF โดยมีโครงการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้อยู่ในแผนงานวิชาการหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรฐานสมรรถนะ
3 นวัตกรรมการศึกษา กับทักษะสมอง EF
- จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน ส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกสติ ใคร่ครวญ นำไปสู่การเคารพคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น ด้วยกระบวนการ ‘ชง เชื่อม ใช้’ ให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกคิดวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นผ่านสถานการณ์เกี่ยวกับ‘จริยธรรม’ เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็ก อาทิ การนั่งสมาธิ การฝึกค้นหาคำตอบ การได้ฟังคำตอบจากเพื่อน การฝึกฝนใคร่ครวญ และการสะท้อนความคิด
- การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL – Problem-based learning) เป็นกระบวนการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะรอบด้าน ทั้งฝึกวางแผน คิดไตร่ตรอง แก้ปัญหา เป็นผู้นำ และทักษะในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญคือได้พัฒนาทักษะทางสังคมอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง โดยนำไปใช้กับหน่วยสาระวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
- ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC – Professional Learning Community) เป็นกระบวนการพัฒนาครู ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเข้มข้น ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนได้เรียนรู้ความงอกงามระหว่างกัน ได้ร่วมกันทบทวน ปรับปรุง แก้ปัญหาจากห้องเรียน บริหารแผนการเรียนการสอนร่วมกัน รวมทั้งช่วยกันวิเคราะห์กิจกรรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะสอง EF ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมและบทบาทของครูที่ตอบรับกับบริบทที่หนุนเสริมทักษะสมอง EF
เป้าหมายและยุทธศาสตร์
- การขับเคลื่อน 3 นวัตกรรมการศึกษา พัฒนาผู้เรียน ได้แก่
-
- แนวทางจิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน เพื่อฝึกสติ การใคร่ครวญ สู่การเคารพคุณค่าในตัวเองและคนอื่น
- กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning – PBL) เพื่อให้ผู้เรียนใช้ทักษะการวางแผน การดำเนินการ และลงมือทำเพื่อชนะจากโจทย์ที่ครูกำหนดให้
- ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานของครู
- การจัดการประชุม PLC ทุกวันจันทร์ และวันอังคาร เพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนความงอกงามและร่วมกันช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน และช่วยกันวิเคราะห์กิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะสมองEF
- สานพลังเรียนรู้… ผู้ปกครองและโรงเรียนเครือข่าย
- PCL ผู้ปกครอง เปิดพื้นที่ให้ครูและผู้ปกครอง มีโอกาสแบ่งปันความงอกงามของผู้เรียนร่วมกัน สร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองเข้าถึงแนวทางจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ “การพัฒนาทักษะสมอง EF” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ครอบครัวและครู หนุนเสริมให้ผู้เรียนเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน
- ขยายผลการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ทุกด้าน ไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 คือ โรงเรียนประเสริฐอิสลาม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
กิจกรรมเด่น
กิจกรรม | กลุ่มเป้าหมาย | ผลลัพธ์การดำเนินงาน |
จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน |
นักเรียน
ครู |
นักเรียน – มีสมาธิ จดจ่อ ตื่นตัว สำหรับการเรียนรู้ ครู – ใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับนักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อเข้าใจและสร้างความสุขในการเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน |
PBL (Problem-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน |
นักเรียน |
นักเรียน – เกิดทักษะชีวิต การวางแผน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ |
PLC (Professional Learning Community) ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ |
นักเรียน และ ครู |
นักเรียน – สามารถปรับปรุง แก้ไข การเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม ครู – สามารถปรับปรุง พัฒนา การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะตรงตามศักยภาพของผู้เรียน ผู้ปกครอง – มีส่วนร่วมการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนและร่วมกับโรงเรียนช่วยแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน |
ความเปลี่ยนแปลง
- เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น สามารถควบคุมตัวเองได้ ยับยั้งชั่งใจได้ วางแผนเป็น แก้ปัญหาเป็น เป็นผู้นำ มีการคิด ไตร่ตรอง ดูแลตัวเองได้
- ครูและผู้ปกครองเข้าใจการพัฒนาทักษะสมองของเด็ก สามารถจัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างเหมาะสม
กุญแจสู่ความสำเร็จ
- โรงเรียนมีแผนงานวิชาการที่ทำเป็นโครงการพัฒนาวิชาการ ที่มีหลักสูตรแกนกลางสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ
- โรงเรียนมีนโยบายทำโครงการพัฒนาวิชาการและสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้ารับการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ 3 นวัตกรรมและความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF อาทิ การอบรมความรู้ EF จากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้โดยออกแบบกิจกรรมที่มีการพัฒนาทักษะสมอง EF ควบคู่ไปด้วย
บทเรียนที่อยากบอกต่อ
“…ถ้าเราพูด EF กับผู้ปกครอง บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ แต่เราสามารถแสดงให้ผู้ปกครองเห็นว่ากิจกรรมที่เราจัดให้เด็กๆ ทำ ผ่านกระบวนการ Problem-Based Learning ในการจัดการเรียนการสอน ช่วยให้เด็กๆ สามารถวางแผนเป็น ดูแลตัวเองได้ แก้ปัญหาเป็น เป็นผู้นำ มีการคิด มีการไตร่ตรอง สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับทักษะ EF…”
นางสาวจุฬาลักษณ์ ใหม่คำ
ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก