096-356-9461 mayotc@gmail.com

ศูนย์ต้นแบบการผลิตสื่อการเรียนรู้ และนวัตกรรมการเรียนการสอน

เพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับเด็กปฐมวัย

ทุ่มเทพลังกาย – ใจ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์

เพื่อพัฒนาบุคลากรครู และผู้ปกครองในชุมชน

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

ครูปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปา ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับทักษะสมองส่วนหน้าครั้งแรกจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพญาเม็งราย เพื่อให้ความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ตามแผนงานพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอพญาเม็งราย มุ่งขยายผล สร้างแกนนำ เสริมทีม เพิ่มพลังขับเคลื่อน EF ยกระดับสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จากนั้นคณะครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปา จึงได้ร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย และมีบทบาทสำคัญในฐานะทีมแกนนำขับเคลื่อน EF ในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบอำเภอพญาเม็งราย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

ด้วยบุคลากรครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปามีความชำนาญในการออกแบบ สร้างสรรค์ และผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นทุนเดิม จึงได้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทักษะสมอง EF มาต่อยอด โดยวางเป้าหมายในการพัฒนา ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปาเป็นศูนย์ต้นแบบด้านการผลิตสื่อและนวัตกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นสถานที่สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในจังหวัดเชียงรายมาศึกษาดูงาน ทั้งยังมีการสนับสนุนให้บุคลากรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปา ได้รับการอบรมความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมดำเนินโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็กตำบลแม่เปา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ฯ ด้วย

กิจกรรมเด่น

ความสามารถเฉพาะ และผลงานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปาคือ การผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีศักยภาพในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีครูพิกุล คุณาภรณ์ศิริ (ครูกุล) เป็นผู้ริเริ่ม และเป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทักษะสมอง EF มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์สื่อ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็ก จนได้รับรางวัลดีเยี่ยมระดับประเทศ ครูกุลจึงได้รับหน้าที่เป็นวิทยากรอบรบการผลิตสื่อ และนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมพัฒนาการสมองส่วนหน้าแก่บุคลากรครูในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจัดอบรมเพื่อแนะนำวิธีใช้สื่อการเรียนรู้ของครูกุลแก่ผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถใช้สื่อในการพัฒนาลูกหลานได้อีกทางหนึ่ง

ครูกุล - พิกุล คุณาภรณ์สิริ

…โดยส่วนตัวครูกุลเป็นคนที่ชอบผลิตสื่อมาสอนเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่แล้วค่ะ พอโรงพยบาลพญาเม็งรายขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาทักษะสมองจึงได้พบว่าสื่อของครูกุลที่ทำสอนเด็กในศูนย์เด็กเล็กสามารถเชื่อมโยงกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะสมอง EF ของเด็ก จึงได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่กรุงเทพฯ และได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมระดับประเทศมา นับตั้งแต่นั้นผลงานของครูกุลจึงได้รับการยอมรับในวงกว้าง จากนั้นครูกุลจึงได้ขยายงานด้านการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยไปยังศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ในเครือข่ายของอำเภอพญาเม็งรายและในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย…

ครูกุล – พิกุล คุณาภรณ์สิริ
ครูชำนาญการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปา

นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปายังได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่เปาอย่างเป็นระบบตามแผนงานส่งต่อเด็กรายบุคคลเพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะของเด็ก โดยมีการใช้สื่อและแนวทางการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปาช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจาการประเมินของเจ้าหน้าโรงพยาบาลฯ

ความเปลี่ยนแปลง

  • เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู เด็ก และผู้ปกครอง
  • ครูมีความรู้ความเข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้
  • เด็กมีการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน มีสมาธิดีขึ้น รู้จักริเริ่ม และลงมือทำด้วยตนเอง กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น
  • พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องการพัฒนาทักษะสมองของเด็ก และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลี้ยงดูเด็กตามแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF ได้

กุญแจสู่ความสำเร็จ

  • ความทุ่มเทและความสามารถของบุคลกรครูในด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูพิกุล คุณาภรณ์สิริ (ครูกุล) ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการออกแบบสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปาสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน และพัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้เพื่อนำมาพัฒนาเด็กอยู่เสมอ
  • ได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ทีเกี่ยวข้อง

บทเรียนที่อยากบอกต่อ 

  • การพัฒนาเด็กจะประสบความสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในชุมชน และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง
  • ครูต้องพัฒนาทักษะ EF ของเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตามศักยภาพและความแตกต่างของเด็กแต่ละคน
  • การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริม EF ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่มาก แต่สามารถหาได้จากวัสดุในชุมชน หรือในท้องถิ่น
  • มีการประเมินผล และนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไข

ตัวอย่างความสำเร็จ

พัฒนาการล่าช้า…ไม่ช้า…ถ้าแก้ไข 

ขอขอบคุณ:
> ภาคีเครือข่ายพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบอำเภอพญาเม็งราย
> ครูพิกุล คุณาภรณ์สิริ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เปา
> คุณมนฤญช์ คำดา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.แม่เปา
> คุณยายเลื่อน ช่างขน น้องซิม และครอบครัว
> และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ทุกหน่วยงาน

THAILAND EF PARTNERSHIP