096-356-9461 mayotc@gmail.com

โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

พื้นที่แห่งการเรียนรู้ : โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ก่อตั้งด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ปกครอง ครู บุคลากรในโรงเรียน รวมถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ก่อให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง ผู้อื่น ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย (โรงเรียนเริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปีพ.ศ.2543)

หลักคิดและความเชื่อในการจัดการศึกษา : การจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยอยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เด็กโตขึ้นจะเป็นคนอย่างไรก็วัยนี้” ซึ่งเมื่อมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าช่วงปฐมวัยคือวัยที่สำคัญที่สุดที่สมองจะพัฒนาเจริญก้าวหน้าได้มากที่สุดและส่งผลให้กลายเป็นต้นทุนของสมองที่เอาไว้ใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกมิติไปตลอดชีวิตเช่นกัน การจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย จึงต้องทำหน้าที่เหมือนเป็น “ผู้จัดการเวลาแห่งการเติบโตให้มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตเด็กทั้งชีวิตให้มากที่สุด”

โรงเรียนจึงจัดการศึกษาด้วยการบูรณาการนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีฐานคิดสำคัญตรงกัน คือ เข้าใจและเคารพในความเป็นธรรมชาติของเด็กเป็นหลัก  ซึ่งเป็นหัวใจที่สามารถสร้างความสุขในการเรียนรู้ร่วมกันทั้งเด็กๆ และคุณครู รวมทั้งเป็นแนวทางที่จะช่วยหล่อเลี้ยงให้พัฒนาการด้านตัวตน (Self) เติบโตอย่างงดงามและแข็งแรง  ซึ่งแนวคิดการจัดการศึกษาของโรงเรียนนี้ ได้้รับความเมตตาในการชี้แนวทางจากท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา

โรงเรียนมีการพัฒนาการจัดการศึกษาต่อยอดมาโดยตลอดอย่างไม่หยุดนิ่ง ผ่านการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นเสมือนเป็นครู ดังคำกล่าวของท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยาที่ว่า

“ ผู้เรียน” เป็นผู้ให้ความรู้ทางทฤษฎีและความช่ำชองในการปฏิบัติแก่ “ผู้สอน”

หนึ่งในนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งโรงเรียนนำมาใช้ คือ การใช้ดนตรี การเคลื่อนไหว และศิลปะตามแนวคิดของออร์ฟ เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างรอบด้าน ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์คขึ้นซึ่งนอกจากสมาคมจะเป็นหนึ่งในสมาชิกของ International Orff- Schulwerk Forum Salzburg ที่มีสมาคมและโรงเรียนเป็นสมาชิกกว่า 70 แห่งทั่วโลก สมาคมฯ ยังได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันเพื่อร่วมขับเคลื่อนทักษะสมอง EF

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

จากโอกาสที่โรงเรียนได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับนักวิชาการสหสาขาวิทยการในการจัดการองค์ความรู้ทักษะสมอง EF ทำให้เห็นภาพชัดของความเชื่อมโยงในความรู้เชิงทฤษฎี หรือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ กับ วิถีปฏิบัติ การใช้ชีวิต และวิถีการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และได้ร่วมกันสร้างการสื่อสารความรู้ที่เกี่ยวกับทักษะสมอง EF เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยความมั่นใจทั้งคุณครู ผู้ปกครอง หรือทุกคนทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัย

โรงเรียนมีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ ในการเผยแพร่และร่วมขับเคลื่อนองค์ความรู้ทักษะสมอง EF ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และการศึกษาของไทย จึงได้เพิ่มบทบาทในความเป็น EF Center เป็นอีกบทบาทที่สำคัญของโรงเรียน

(ภาพ) เสวนาให้ความรู้เรื่อง ความรู้ฐานราก ๓ มิติ เพื่อการพัฒนามนุษย์ งาน TEP Forum ๒๐๒๒ (online)

เผยแพร่และร่วมขับเคลื่อนองค์ความรู้ทักษะสมอง EF สู่ภายนอก

โรงเรียนมีนโยบายให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน EF อย่างเต็มที่และอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า “หากองค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF ได้ถูกเผยแพร่ออกไปและมีการนําไปเป็นหลักคิดสำคัญในการจัดการศึกษาให้กับเด็กมากเท่าใด รวดเร็วเท่าใด เด็กก็ยิ่งมีโอกาสได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าแลมีความหมายต่อชีวิตของเด็กๆ มากเท่านั้น”

การขับเคลื่อนและขยายผลความรู้ทักษะสมอง EF แก่บุคคลและหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ภายนอก

กลุ่มเป้าหมาย

  1. กลุ่มโรงเรียนระดับปฐมวัย ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด
  2. ผู้ปกครอง
  3. องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
  4. บุคคลทั่วไปที่สนใจหรือกลุ่มที่ทำงานด้านการสื่อสาร/ สื่อมวลชน

รูปแบบกิจกรรมและการให้บริการ

  1. ศึกษาดูงาน
  2. อบรมเชิงปฏิบัติการ
  3. เผยแพร่กิจกรรมและความรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
  4. ให้การสนับสนุนในด้านองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่สนใจและมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ หรือ โรงเรียนที่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับองค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EFบริบทของโรงเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ
    • บรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
    • การจัดชั้นเรียนแบบคละอายุ
    • การจัดประสบการณ์ หรือ การสร้างโอกาสเพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมฐานราก 3 มิติของมนุษย์ คือ
      1. Self (พัฒนาการด้านตัวตน)
      2.
      ทักษะสมอง EF
      3.พัฒนาการสี่ด้าน
    • สร้างการรับรู้/เรียนรู้และความเข้าใจในทักษะสมอง EF ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและมีการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านกับโรงเรียนแบบ “เลี้ยงลูกไปด้วยกัน”

        กุญแจสู่ความสำเร็จ

        “…EF ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะตั้งเป้าหมายกับการศึกษาในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากเช่นนี้อย่างไร… เราควรโฟกัสไปที่ศักยภาพหรือทักษะของสมอง ทำให้มันแข็งแรงเต็มที่ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่จะอยู่รอดได้คือ นักเรียนรู้ที่ไม่หยุดการเรียนรู้ รักและตื่นเต้นสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ นี่คือภาพเด็กในใจพวกเรา…”

        ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง
        ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
        นายกสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์ค

        THAILAND EF PARTNERSHIP