สร้างแกนนำครู รู้จริง ทำจริง
บูรณาการความรู้ สู่กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์
มุ่งพัฒนาทักษะสมองของลูกหลาน
ผสานความร่วมมือเครือข่ายและพ่อแม่
เพราะ EF คือแก่นแท้ในการสร้างคนคุณภาพ
ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่งก้าวเข้าสู่โลกของ EF จากการเข้าร่วม “โครงการดาว – อีเอฟ พัฒนาเยาวชนสู่ความสำเร็จ เพื่อระยองผาสุก” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและศักยภาพของเด็กปฐมวัย ซึ่งสนับสนุนและดำเนินงานโดยกับกลุ่มบริษัทดาวเคมีคอล (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิกภาคี Thailand EF Partnership ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และพัฒนาบุคลากรครูร่วมกับเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง นำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติโดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถเสริมสร้างทักษะสมอง EF ของเด็ก พร้อมกับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง เชื่อมต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็กระหว่างโรงเรียนและบ้าน จนสามารถพิชิตปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้าและส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF แก่เด็กอย่างก้าวกระโดด ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงให้พร้อมก้าวสู่การศึกษาในระดับต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ
การนำความรู้ EF ไปขับเคลื่อนขยายผลอย่างต่อเนื่องของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่ง อย่างต่อเนื่อง ก่อเกิด “องค์ความรู้ใหม่ๆ จากบทเรียนของการนำไปปฏิบัติจริง” คือสิ่งที่มีคุณค่าคู่ควร เหมาะสมกับบทบาทของการเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็กปฐมวัย ที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้สนใจมาเยี่ยมเยือน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF แก่เด็กและเยาวชนไทยให้กว้างขวางออกไปไม่มีประมาณ
เป้าหมายและยุทธศาสตร์
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่งขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในศูนย์ฯ เป็นเป้าหมายแรก จากนั้นจึงนำองค์ความรู้เข้าสู่กระบวนการสอนเด็กนักเรียน แล้วจึงขยายผลสู่เครือข่ายครูและผู้ปกครอง มีกระบวนพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่น่าศึกษาเรียนรู้ ได้แก่
- สร้างแกนนำครูที่ รู้จริง – ทำจริง
หลังจากตัวแทนครูเข้าร่วมอบรมความรู้เรื่อง “การพัฒนาทักษะสมอง EF” จากโครงการพัฒนาเยาวชนสู่ความสำเร็จ เพื่อระยองผาสุก แกนนำครูเห็นถึงประโยชน์และตระหนักถึงความสำคัญ จึงเริ่มชักชวนเพื่อนครูมาทำความเข้าใจ โดยเริ่มจากการนำองค์ความรู้การพัฒนาทักษะสมอง EF ไปทดลองใช้กับตนเองก่อน
แล้วจึงนำไปใช้กับเด็ก เปิดโอกาสให้ตัวครูสัมผัสกลไกการทำงานของสมองส่วนหน้าว่าเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร จนค้นพบว่าทักษะสมอง EF เชื่อมโยงกับ “ความสามารถทางปัญญาที่เลื่อนไหล (Fluid Intelligence)” ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญในการเติบโตไปสู่การเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ที่มีคุณภาพ จึงนำองค์ความรู้ EF ไปสอดแทรกในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้าน EF ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ปกครอง เชื่อมต่อบ้านและโรงเรียน
หลังค้นพบความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ครูส่งต่อความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF สู่ผู้ปกครอง ด้วยการจัดอบรมเติมความรู้เบื้องต้น แนะแนวทางปฏิบัติอย่างง่าย ให้ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ส่งเสริม EF เด็กได้เองที่บ้าน ขณะที่ศูนย์ฯ ก็เติมเต็มกระบวนการพัฒนาทักษะสมอง EF ลงในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่มีอยูเดิมให้เด่นชัดและเข้มข้นขึ้น สร้างโอกาสให้เด็กได้คิด เลือก ลงมือทำ ประเมิน และสรุปผลด้วยตัวเอง จากโจทย์และการท้าทายอย่างเหมาะสม ปรับแต่งการเล่นแบบเดิมไปสู่การเล่นที่มีความหมายตามแนวทาง EF Guideline รวมทั้งใช้แบบสังเกตพฤติกรรมทักษะสมอง EF ของเด็กปฐมวัย ควบคู่ไปกับคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลก็ปรากฏเป็นที่น่าชื่นใจ ว่าสามารถช่วยฟื้นฟูและแก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าของเด็กได้ดีอย่างทันท่วงที
กิจกรรมเด่น
- สร้างสรรค์กิจกรรมเสริมประสบการณ์สอดแทรกการพัฒนาทักษะสมอง EF ที่หลากหลายและร่วมสมัย
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่ง มีความโดดเด่นในเรื่องของการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์สอดแทรกทักษะ EF ที่หลากหลายและร่วมสมัย โดยการสอดแทรกองค์ความรู้ EF ในกระบวนการเล่นของเด็กเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะสมอง EF ในทุกๆ ด้าน เช่น การจัดกิจกรรมมุมนี้ที่หนูชอบ, กิจกรรมอิ่มอร่อยด้วยมือหนู, และการเล่นอย่างสร้างสรรค์ ในช่วงสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส-19 (Covid-19) เด็กๆ ต้องเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงให้เด็กๆ สร้างสรรค์วิธีการเล่นที่เด็กๆ ชอบ และให้เด็กๆ เป็นผู้แนะนำหรือชักชวนให้เพื่อนๆ และครูทำตาม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมีความเป็นผู้นำ และกล้าแสดงออก
- ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมวิชาการและปฏิสัมพันธ์ อาทิ
กิจกรรม/โครงการ | กลุ่มเป้าหมาย | ผลลัพธ์การดำเนินงาน |
โครงการ กิน กอด เล่น เล่า นั่งเฝ้าดูฟัน รู้ทันโรคติดต่อ | ผู้ปกครองและนักเรียน | ผู้ปกครองมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็ก และมีทักษะที่สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้กับลูกๆที่บ้าน |
กิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ | ผู้ปกครองนักเรียน และประชาชนทั่วไป |
ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไป ร่วมชื่นชมผลงาน และทำกิจกรรมร่วมกัน กับเจ้าของผลงาน นักเรียนมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง |
ความเปลี่ยนแปลง
- ครู – ตระหนักถึงความสำคัญของ EF ต่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาเด็ก มีความรู้ความเข้าใจ สามารถออกแบบกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF สามารถประเมินผลพัฒนาการของเด็กได้ และมีพัฒนาการด้านอารมณ์ดีขึ้น ความเครียดสะสมน้อยลง
- พ่อแม่ ผู้ปกครอง – มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมทักษะสมอง EF แก่เด็กที่บ้าน
- เด็ก – สนุกกับการทำกิจกรรมในห้องเรียน และมีพัฒนาการด้านทักษะสมอง EF เพิ่มขึ้น 38.1%จากผลงานวิจัยโครงการส่งเสริมและประเมินทักษะการคิดเชิงบริหาร ในเด็กปฐมวัยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนพบว่า หลังการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กในกลุ่มที่มีพัฒนาการปกติมีทักษะสมอง EF เพิ่มขึ้นจากเดิม 48.4% เป็น 86.5% ขณะที่เด็กในกลุ่มต้องสงสัยพัฒนาการล่าช้ามีจำนวนลดลงทุกปี
กุญแจสู่ความสำเร็จ
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่งมีบุคลากรครูที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพระดับแกนนำ และมีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่กันและกัน
- มีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อน EF อาทิ บริษัทดาวเคมีคอล (ประเทศไทย) และสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
- เทศบาลเมืองมาบตาพุดมีนโยบายการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงาน EF อย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้บุคลากรเข้ารับการอบรมเป็นประจำ
- บูรณาการความร่วมมือ ร่วมติดตาม และประเมินผลด้วยงานวิจัย
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยโป่งต่อยอดการทำงานในพื้นที่ให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่าย Thailand EF Partnership ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ เกิดการส่งเสริมความรู้ด้านพัฒนาการและสุขภาพของเด็กร่วมกับโรงพยาบาลประจำตำบล และเข้าร่วมเป็นพื้นที่กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กหลังใช้กระบวนส่งเสริมทักษะสมอง EF กับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมการทำงานแต่ละด้านให้แม่นยำและเด่นชัดขึ้นทำให้กระบวนการส่งเสริมทักษะสมอง EF ของ ศพด.วัดห้วยโป่งมีความโดดเด่น และได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่แกนนำในการถ่ายทอดความรู้และศึกษาดูงานของจังหวัดระยอง
บทเรียนที่อยากบอกต่อ
“…EF สำหรับครูไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันจบ… เราสามารถไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะว่าการเรียนรู้ไม่มีจุดจบ ทั้งตัวครู รวมถึงเด็กด้วย…”
ครูหญิง – สุภาพร กองเต็ก
ครูผู้ดูแลเด็ก ประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่ง
ตัวอย่างความสำเร็จ
ออทิสติกเทียมดีขึ้นได้ ถ้าเข้าใจ EF
ขอขอบคุณ:
> บริษัทดาว ประเทศไทย ภาคีเครือข่ายพื้นที่ต้นแบบ EF จังหวัดจังหวัดระยอง
> ครูถาวร ถิ่นถาวร
> ครูพรเพ็ญ ประดิษฐ์
> ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยโป่ง
> แม่อ้อน – กนกกาญจน์ ถ้ำคู่ และน้องมิวสิค
> และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ทุกหน่วยงาน